เกร็ดความรู้

ปอดอักเสบ / ปอดบวม

       พบได้บ่อยใน คนทั่วไปทุกวัย กลุ่มเสี่ยงคือ เด็กเล็ก เด็กขาดสารอาหาร  ผู้มีโรคประจำตัว และ ผู้สูงอายุอาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของหลายๆ โรค เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ฯลฯ

อาการ
       มักมีอาการไข้ (ฉับพลันหรือตลอดเวลา) ไอ (ตอนแรกไอแห้งๆ ต่อมามีเสมหะสีขาวหรือขุ่นข้นออกเป็นสีเหลืองเขียว) เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย ส่วนใหญ่มักมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้นหรือไข้หวัดนำมาก่อน

การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว
       เหมือนการปฏิบัติตัวของไข้หวัด

1.พักผ่อนมากๆ
2.ไม่ควรออกกำลังกายมาก งดเล่นกีฬากลางแจ้ง
3.สวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น
4.ดื่มน้ำมากๆ ควรดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น เพราะการดื่มน้ำเย็นจะทำให้ไอมากขึ้น
5.กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เครื่องดื่มร้อน น้ำหวาน น้ำผลไม้
6.ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเช็ดตัวเวลามีไข้ 

ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต
2.ถ้าไอมีเสมหะ ให้ ยาละลายเสมหะ  และจิบน้ำอุ่น หรือ จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (อัตราส่วน น้ำผึ้ง 4ส่วน : น้ำมะนาว 1 ส่วน) ถ้าไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ให้ ยาแก้ไอ
3.นอกจากรักษาตามอาการแล้ว ควรส่งต่อสถานพยาบาล
4.ควรส่งต่อโรงพยาบาล ด่วน เมื่อมีอาการหายใจหอบเหนื่อยมาก ปากเขียว

การป้องกัน
1.ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่ 

  • ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • ช่วงที่มีการระบาด

- ใส่หน้ากากอนามัย

ล้างมือบ่อยๆ

แยกผู้ป่วยให้ห่างจากผู้อื่น เช่น ไม่นอนปะปน หรือคลุกคลีใกล้ชิดกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด

ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ของเล่นร่วมกัน

2.เมื่อเป็นโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส ควรดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ
3.ไม่สูบบุหรี่

เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 46.


ติดต่อเรา | แผนผังเว็ปไซต์
เข้าสู้เว็บไซต์