เกร็ดความรู้
มือ เท้า ปาก
โรค มือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth disease) เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักมีอาการไม่รุนแรง สามารถหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ โดยมากพบในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักอยู่ในโรงเรียนอนุบาล
อาการ
แรกเริ่มผู้ป่วยจะมีอาการไข้ อาจมีอาการอ่อนเพลีย และเบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้นประมาณ 1-2 วันจะมีน้ำมูกไหล เจ็บปาก เจ็บคอ ไม่อยากกินอาหาร ในช่องปากจะพบมีจุดนูนแดง หรือมีน้ำใส ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้นและเหงือก ซึ่งต่อมาจะแตกกลายเป็นแผลตื้นๆ ทำให้เจ็บมาก
ขณะเดียวกันก็มีผื่นขึ้นที่มือและเท้า ตรงฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วมือ ตอนแรกจะเป็นจุดแดงราบก่อน แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำตามมา
มักมีอาการไข้ประมาณ 3-4 วัน แผลในปากจะหายภายใน 7 วัน ตุ่มที่มือและเท้าจะหายภายใน 10 วัน
ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียน ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบ
การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว
1.พักผ่อนมากๆ
2.ดื่มน้ำมากๆ
3.กินอาหารเหลวหรืออาหารน้ำๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด นม น้ำเต้าหู้ น้ำหวาน
4.ให้อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ดื่มน้ำหรือนมเย็นๆ กินไอศกรีม หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ (เกลือแกง ½ ช้อนชา ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) เพื่อลดอาการเจ็บแผล
ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต
2.ถ้าเจ็บแผลในปากมากจนกินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ ผู้ปกครองควรนำบุตรหลานส่งโรงพยาบาล เพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และแพทย์อาจให้ยาชาทาแผลในปากเพื่อลดความเจ็บปวด
3.ถ้าแผลกลายเป็นตุ่มหนองหรือพุพองจากการเกา ให้ส่งต่อโรงพยาบาลเพื่อรับยาปฏิชีวนะ
4.ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียน ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบ ควรส่งต่อโรงพยาบาล ด่วน
การป้องกัน
1.ควรแยกผู้ป่วยไม่ให้คลุกคลีกับผู้อื่นประมาณ 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าตุ่มแผลต่างๆ จะหายดี
2.เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดจมูก
3.ล้างมือบ่อยๆ
4.ช่วงที่มีการระบาดควรหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ขวดนม ช้อน ชาม เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ของเล่น เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 52.