ตู้ยาโรงเรียน


เกร็ดความรู้

คอหอยอักเสบ / ทอนซิลอักเสบ

       การอักเสบของคอหอยและทอนซิลมักทำให้เกิดอาการเจ็บคอเป็นอาการสำคัญ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ บางส่วนเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือโดยการสัมผัสมือ ใช้สิ่งของร่วมกัน  หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ใกล้ชิดกัน

อาการ
        คอหอยอักเสบ/ทอนซิลอักเสบจากไวรัส อาจมีไข้หรือไม่มีก็ได้ ผนังคอหอยอาจมีลักษณะแดงพียงเล็กน้อย ทอนซิลแดง โตเล็กน้อย อาจพบมีน้ำมูกใส ตาแดง
       คอหอยอักเสบ/ทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย อาจมีอาการไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน 1-3 วัน มักจะมีไข้ ผนังคอหอยหรือเพดานอ่อนมีลักษณะแดงจัดและบวม ทอนซิลบวมโต มีสีแดงจัด มักมีแผ่นหรือจุดหนองขาวๆเหลืองๆ อยู่บนทอนซิล อาจพบต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอด้านหน้า หรือใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ

การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว
1.พักผ่อนมากๆ
2.ไม่ควรออกกำลังกายมากเกินไป
3.สวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น
4.ดื่มน้ำมากๆ
5.กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เครื่องดื่มร้อน น้ำหวาน น้ำผลไม้
6.ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเช็ดตัวเวลามีไข้
7.ควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (เกลือป่น 1 ช้อนชา ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) หรือน้ำยาบ้วนปาก วันละ 2-3 ครั้ง
8.หากเจ็บคอมาก อาจพิจารณาให้ดื่มน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเย็นๆ หรืออมก้อนน้ำแข็งเป็นครั้งคราว

ให้ยารักษาตามอาการ

1.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต
2.ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากจนสร้างความรำคาญ ให้ ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน  โดยให้ใน 2-3 วันแรก เมื่ออาการทุเลาแล้วควรหยุดยา หรือถ้าอาการไม่มากไม่ควรให้ยา หากเด็กเล็กไอ มีเสมหะเหนียวให้งดยาแก้แพ้
3.ถ้าไอมีเสมหะ ให้ ยาละลายเสมหะ  และจิบน้ำอุ่น หรือ จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (อัตราส่วน น้ำผึ้ง 4ส่วน : น้ำมะนาว 1 ส่วน)   ถ้าไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ให้ ยาแก้ไอ
4.ในรายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย นอกจากรักษาตามอาการแล้ว ควรส่งต่อสถานพยาบาล เนื่องจากต้องให้ยาปฏิชีวนะ    
       นอกจากนี้อาการที่ควรส่งต่อสถานพยาบาล ได้แก่ ผู้ป่วยกินยาไม่ได้ อาเจียนมาก 

การป้องกัน
1.ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัด

- ใส่หน้ากากอนามัย

ล้างมือบ่อยๆ

แยกผู้ป่วยให้ห่างจากผู้อื่น เช่น ไม่นอนปะปน หรือคลุกคลีใกล้ชิดกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด

ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ของเล่นร่วมกัน

2.ควรให้เด็กหยุดเรียน 1-2 วันหลังจากได้รับยาปฏิชีวนะ เพื่อลดการแพร่เชื้อ


เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 37-39.


ร่วมสนับสนุนโดย มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.)