เกร็ดความรู้

ไมเกรน

       พบได้ในคนทุกวัย พบมากในช่วงอายุ 10-30 ปี มักมีอาการเป็นๆหายๆ เรื้อรังเป็นปีๆ เริ่มเป็นครั้งแรกตอนย่างเข้าวัยรุ่น โดยเฉพาะผู้หญิงมักมีอาการตอนเริ่มมีประจำเดือน โรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่สร้างความรำคาญ ทำให้เสียงาน เสียการเรียน
       โรคนี้ไม่ทราบสาเหตุและกลไกการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม และมีสาเหตุกระตุ้นอาการที่แตกต่างหลากหลาย เช่น

  • แสงสว่างจ้า หรือ แดดจ้า
  • การใช้สายตาเพ่งนานๆ
  • การอยู่ในที่จอแจ เสียงดังอึกทึก
  • การอยู่ในที่ร้อนจัด หรือ เย็นจัดเกินไป
  • การสูดดมกลิ่นฉุนๆ
  • การดื่มกาแฟ เหล้า เบียร์ ไวน์แดง
  • อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว กล้วย นมเปรี้ยว เนยแข็ง ช็อกโกแลต ตับไก่ ไส้กรอก อาหารทอด ผงชูรส น้ำตาลเทียม  ฯลฯ
  • การอดนอน
  • การอดอาหาร หรือกินอาหารผิดเวลา
  • ไข้ และ อาการเจ็บป่วยอื่นๆ
  • การกระแทกที่ศีรษะ เช่น โหม่งลูกฟุตบอล
  • ความเครียด
  • ช่วงใกล้มีประจำเดือน

อาการ
       มักมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่ปวดแบบตุบๆ (เข้ากับจังหวะการเต้นของหัวใจ ) ที่ขมับข้างใดข้างหนึ่ง อาจปวดสลับข้างกันในแต่ละครั้ง หรืออาจปวดพร้อมกัน 2 ข้างก็ได้ ปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ถูกแสง เสียง หรือกลิ่น อาจมีตาพร่ามัว เจ็บหนังศีรษะ มีเส้นพองที่ขมับ บางคนอาจมีอาการที่เป็นสัญญาณบอกเหตุก่อนที่จะมีอาการปวดศีรษะ ได้แก่ มองเห็นแสงระยิบระยับ เห็นภาพหยักเบี้ยว เห็นภาพเล็กหรือใหญ่เกินจริง เห็นดวงมืดในลานสายตา
อาการมักรุนแรงปานกลางถึงมากจนเป็นอุปสรรคต่อกิจวัตรประจำวัน

การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว
1.ควรนอนหลับพักผ่อน
2.นวดต้นคอหรือขมับด้วยมือ หรือ ยาหม่อง 
3.อาจประคบด้วยความร้อนหรือความเย็นโดยใช้ ถุงประคบร้อน-เย็น 
ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้าปวดไม่มากให้ ยาพาราเซตามอล
2.ถ้าปวดมากให้ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน เมเฟนามิก
3.ถ้าอาเจียนให้ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน 
4.ถ้าอาการมาก ไม่ทุเลาหลังได้ยาแก้ปวด ควรส่งต่อสถานพยาบาล
5.ถ้าปวดรุนแรงมากขึ้น หรือปวดถี่ขึ้น (มากกว่า 3 ครั้งต่อเดือน) ควรส่งต่อสถานพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม

การป้องกัน
1.ค้นหาสิ่งที่กระตุ้นให้ปวด แล้วหลีกเลี่ยง
2.ถ้าไม่ทราบสาเหตุที่กระตุ้น และยังมีอาการปวดอยู่บ่อยๆ ควรไปพบแพทย์อาจได้รับยาป้องกันสำหรับไมเกรน 

เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 71-72


ติดต่อเรา | แผนผังเว็ปไซต์
เข้าสู้เว็บไซต์