เกร็ดความรู้

ไซนัสอักเสบ

       ไซนัส (sinus) คือ โพรงอากาศเล็กๆ ในกะโหลกศีรษะที่อยู่รอบๆ จมูก และมีทางเชื่อมมาเปิดที่โพรงจมูกหลายจุด เป็นช่องทางปกติในการระบายเมือกเพื่อให้ความชื้นและชะล้างโพรงจมูก แต่ถ้ารูเปิดเหล่านี้ถูกอุดกั้น เช่น เป็นหวัด ติดเชื้อแบคทีเรีย เมือกในโพรงไซนัสจะไม่ถูกระบายและเอื้อให้เกิดการลุกลามของเชื้อจากโพรงจมูกเข้าไปในไซนัส
       ไซนัสอักเสบมักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของ ไข้หวัด โดยเฉพาะในเด็กซึ่งมักเป็นไข้หวัดได้บ่อย ไซนัสอักเสบมีทั้งชนิดเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และเรื้อรัง ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะ ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น และหวัดภูมิแพ้

อาการ
       ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ มักมีอาการปวดใบหน้าบริเวณไซนัสที่อักเสบ เช่น ปวดบริเวณหัวตา หน้าผาก โหนกแก้ม รอบๆ กระบอกตา หรือหลังกระบอกตา บางคนอาจรู้สึกคล้ายปวดตรงฟันซี่บน อาการปวดมักเป็นเวลาเช้าหรือบ่าย เวลาก้มหรือเปลี่ยนท่า นอกจากนี้มักมีอาการคัดแน่นจมูก เสียงขึ้นจมูก น้ำมูกเป็นสีเหมือนหนองข้นเขียว มีน้ำมูกไหลลงคอเป็นเสมหะสีเขียว ปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดหู ไอ หายใจมีกลิ่นเหม็น การรับรู้กลิ่นลดลง
       ในเด็กเล็กอาจบอกอาการได้ไม่ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่ อาจมีอาการเป็นหวัดนานกว่าปกติ มีน้ำมูกใสหรือข้นคล้ายหนองก็ได้ และไอนานกว่า 10 วัน ไอทั้งกลางวันและกลางคืน หายใจมีกลิ่นเหม็น หรือเด็กบางคนอาจมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส น้ำมูกข้นเป็นหนอง ปวดบริเวณใบหน้า หลังตื่นนอนมีอาการบวมตรงรอบๆ ตา

การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว

1.พักผ่อนมากๆ
2.ไม่ควรออกกำลังกายมากเกินไป 
3.สวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น
4.ดื่มน้ำมากๆ ควรดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น เพราะการดื่มน้ำเย็นจะทำให้ไอมากขึ้น
5.กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เครื่องดื่มร้อน น้ำหวาน น้ำผลไม้
6.ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเช็ดตัวเวลามีไข้
7.สูดดมไอน้ำอุ่น และล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนอร์มัลบ่อยๆ เพื่อช่วยระบายหนอง
ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้าปวดหรือมีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต
2.ถ้าคัดจมูกมากให้ยาแก้คัดจมูก เช่น ซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) อาจช่วยลดอาการบวมของเนื้อเยื่อที่อักเสบ และช่วยระบายหนองออกจากไซนัส
ไม่ควรให้ยาแก้แพ้เพราะจะทำให้เมือกในโพรงไซนัสเหนียว ระบายออกได้ไม่ดี
3.ควรส่งต่อสถานพยาบาล เนื่องจากต้องให้ยาปฏิชีวนะ              

การป้องกัน
1.ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัด

  • ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • ช่วงที่มีการระบาด

- ใส่หน้ากากอนามัย

- ล้างมือบ่อยๆ

- แยกผู้ป่วยให้ห่างจากผู้อื่น เช่น ไม่นอนปะปน หรือคลุกคลีใกล้ชิดกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด

- ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ของเล่นร่วมกัน

2.เมื่อเป็นหวัดแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะอาจทำให้เชื้อลุกลามเข้าโพรงไซนัส เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ควรสั่งน้ำมูกบ่อยๆ สั่งออกทีละข้าง และสั่งไม่แรง

 เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 42-43.


ติดต่อเรา | แผนผังเว็ปไซต์
เข้าสู้เว็บไซต์