เกร็ดความรู้
กระเพาะอาหารอักเสบ
โรคนี้พบได้ในคนทั่วไป พบมากในผู้ที่กินยาแอสไพรินหรือยาแก้ปวดเป็นประจำ เช่น เด็กที่เป็นโรคหัวใจ โรคข้ออักเสบ
อาการ
จะมีอาการปวดจุกแน่นตรงใต้ลิ้นปี่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการท้องเดินร่วมด้วย
การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว
1.งดเครื่องดื่มกาเฟอีน ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม
2.งดสูบบุหรี่
3.กินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ อย่ากินอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารมัน ของดอง หรืออาหารสุกๆดิบๆ หรือย่อยยาก ควรกินอาหารเย็นก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
4.เคี้ยวอาหารให้ละเอียด อย่ารีบเร่ง หรือกินจนอิ่มมากเกินไป
5.ถ้าน้ำหนักมากควรลดน้ำหนัก
6.ออกกำลังกายเป็นประจำ หาวิธีการผ่อนคลายความเครียด
ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้ามีอาการแสบท้องหรือปวดท้องตอนดึก หรือจุกเสียดแน่นหลังอาหารหรือมีประวัติกินยาแอสไพริน หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ให้ยาต้านกรด/ยาลดกรด ร่วมกับยาลดการสร้างกรด เช่น รานิทิดีน จากนั้นถ้ารู้สึกทุเลาลง หลังจากกินยาควรส่งต่อสถานพยาบาลเพื่อรับยากินต่ออย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 8 สัปดาห์ตามอาการ
2.ถ้ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ ควรส่งโรงพยาบาล ด่วน
การป้องกัน
กินยาป้องกัน สำหรับผู้ที่กินยาแอสไพริน หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เป็นประจำ แพทย์จะให้ยากินป้องกันควบคู่ไปด้วย อาจเป็นยาลดการสร้างกรด รานิทิดีน
เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 61-62.