เกร็ดความรู้
ฝี แผลพุพอง แผลอักเสบ
โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง คือ การอักเสบของผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจแสดงอาการได้หลายแบบ ในที่นี้กล่าวถึง ฝี แผลพุพอง และแผลอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน ซึ่งอาจเล่นซุกซนและดูแลความสะอาดร่างกายไม่ทั่วถึง
อาการ
ฝี เป็นการอักเสบของต่อมไขมันและขุมชน อาจขึ้นเป็นหัวเดียวหรือหลายหัวติดๆ กัน บวม แดง เจ็บ ตอนแรกจะแข็ง ต่อมาค่อยๆ นุ่มลงและกลัดหนอง บางครั้งจะเป่งและแตกเองภายใน 1-2 สัปดาห์ อาจพบต่อน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงอักเสบด้วย ถ้าฝีใหญ่มากอาจมีไข้ อ่อนเพลีย
แผลพุพอง มีทั้งชนิดตื้นและลึก
แผลพุพองชนิดตื้น เป็นการติดเชื้อที่หนังกำพร้าชั้นนอกสุด พบมากในเด็กๆ ที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาด ไม่สนใจดูแลบาดแผลเล็กๆน้อยๆ ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสเชื้อเข้าสู่ผิวหนังทางรอยถลอก ตอนแรกจะเป็นตุ่มใสเล็กๆ ต่อมากลายเป็นตุ่มหนอง แตกง่าย มีน้ำเหลืองใสเยิ้ม ซึ่งจะกลายเป็นสะเก็ดเหลืองกรังติดอยู่ ลุกลามได้ง่ายจากการเกา อาจมีไข้ต่ำๆ หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตด้วย ถ้าเป็นที่ศีรษะเรียกว่าชันนะตุ
แผลพุพองชนิดลึก เป็นการติดเชื้อลึกลงถึงชั้นหนังแท้ พบในเด็กวัยเรียนหรือเด็กโตที่ไม่รู้จักรักษาความสะอาด ผิวหนังสกปรก ไว้เล็บยาว ไม่สนใจดูแลบาดแผลเล็กๆน้อยๆ โดยแผลอาจเริ่มจากรอยถลอก ขีดข่วน รอยแผลจากยุง แมลงกัด หรืออาจพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคผิวหนังอื่นๆ เช่น หิด เหา อีสุกอีใส ผื่นแพ้ ผื่นคัน ฯลฯ โดยเริ่มแรกจะเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง โตขึ้นจนมีขนาด 1-3 ซม. มีสะเก็ดหนาสีแดงคลุม ข้างใต้เป็นน้ำหนอง ของแผลยกนูน หายแล้วเกิดแผลเป็น
แผลอักเสบ เกิดจากมีบาดแผล เช่น แผลถลอก หนามเกี่ยว ของแหลมทิ่มตำ สัตว์กัด ฯลฯ ซึ่งเป็นอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้อักเสบเป็นหนอง มีอาการปวด บวม แดง ร้อน อาจมีไข้ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโต
การรักษาเบื้องต้น
ฝี
1.ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบวันละ 2-3 ครั้ง
2.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต
3.ควรส่งต่อสถานพยาบาล เนื่องจากต้องให้ยาปฏิชีวนะ และถ้าฝีสุกเต็มที่ อาจต้องใช้เข็มเจาะ หรือผ่าระบายหนองออก และชะล้างแผล
แผลพุพอง
1.อาบน้ำฟอกสบู่วันละ 2 ครั้ง อาจใช้น้ำเกลือหรือน้ำด่างทับทิมชะล้างเอาคราบสะเก็ดออกไป หากสะเก็ดแข็งมากควรประคบด้วยน้ำอุ่นเพื่อให้สะเก็ดนุ่มและหลุดออกเร็ว
2.ถ้าคันมากให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน
3.ควรส่งต่อสถานพยาบาล เนื่องจากต้องให้ยาปฏิชีวนะ
แผลอักเสบ
1.ชะล้างแผลด้วย น้ำเกลือล้างแผล หรือ แอลกอฮอล์ ใส่แผลด้วย โพวิโดนไอโอดีน
2.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต
3.ควรส่งต่อสถานพยาบาล เนื่องจากต้องให้ยาปฏิชีวนะ
การป้องกัน
1.อาบน้ำฟอกสบู่วันละ 2 ครั้ง กินอาหารที่มีประโยชน์
2.หมั่นรักษาความสะอาดของผิวหนัง
3.ตัดเล็บให้สั้น ดูแลความสะอาดของมือและเล็บเป็นประจำ
4.ให้การดูแลบาดแผลเล็กๆน้อยๆ หรือโรคผิวหนังอย่างจริงจัง
5.พักอวัยวะส่วนที่มีบาดแผล
เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 47-49.