เกร็ดความรู้

ท้องเดิน

       ท้องเดิน (ท้องร่วง ท้องเสีย อุจจาระร่วง) คือ ภาวะที่มีการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวมากกว่าวันละ 3 ครั้ง  หรือ ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเพียงครั้งเดียว อาจเกิดจากการติดเชื้อ สารพิษจากเชื้อ สารเคมี หรือ ยา

อาการ
       ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจถ่ายเป็นมูกหรือมูกเลือด หรือบางรายอาจมีไข้ คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ขึ้นกับสาเหตุที่เป็น หากถ่ายหลายครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนคือ ภาวะขาดน้ำ ซึ่งภาวะขาดน้ำมี 3 ระดับ ได้แก่
1.ภาวะขาดน้ำเล็กน้อย จะมีอาการกระหายน้ำ อ่อนเพลียเล็กน้อย แต่หน้าตาแจ่มใส เดินได้ ชีพจร และความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ
2.ภาวะขาดน้ำปานกลาง เพลียมาก เดินแทบไม่ไหว แต่ยังนั่งได้ รู้สึกตัวดี ตาเริ่มลึก ปากแห้ง ผิวหนังเหี่ยวขาดความยืดหยุ่น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ
3.ภาวะขาดน้ำรุนแรง อ่อนเพลียมาก ลุกนั่งไม่ได้ ต้องนอน ไม่ค่อยรู้สึกตัว มีอาการช็อก (กระสับกระส่าย ตัวเย็น มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออกเลย) ตาลึกมาก ผิวหนังเหี่ยว ปากและลิ้นแห้ง

การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว
       ควรงดอาหารแข็ง อาหารรสจัด และอาหารที่มีกากใย (เช่น ผัก ผลไม้) ให้กินอาหารอ่อน หรืออาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าว น้ำหวาน แทน
ให้ยารักษาตามอาการ
1.ให้ ผงน้ำตาลเกลือแร่ ผสมน้ำดื่มสะอาด จิบแทนน้ำครั้งละ 1 แก้ว (150 มล.) ถ้าหากไม่มี ใช้น้ำเกลือผสมเอง โดยใช้น้ำดื่มสะอาด 750 มล. (ประมาณ 1 ขวดน้ำปลาใหญ่) กับ เกลือ ½ ช้อนชา และน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ หรือจะใช้ น้ำอัดลม 750 มล. เปิดทิ้งไว้จนหายซ่า ใส่เกลือ ½ ช้อนชาก็ได้
2.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต
3.ยาอื่นๆ เช่น ยาแก้ท้องเดิน ยาหยุดถ่าย ไม่มีความจำเป็นในการรักษาเบื้องต้น ส่วนยาปฏิชีวนะ แพทย์จะพิจารณาให้ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคบิด อหิวาต์ ไทฟอยด์ 
4.หากอาการไม่ดีขึ้น ถ่ายมีมูก หรือมูกปนเลือด มีไข้ หรือมีอาการขาดน้ำปานกลาง ให้ส่งต่อสถานพยาบาล
หากมีอาการขาดน้ำรุนแรงให้ส่งโรงพยาบาล ด่วน 

การป้องกัน
       สำหรับท้องเดินจากการติดเชื้อสามารถป้องกันได้ ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้
1.กินอาหารสุกและไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาด
2.ล้างมือก่อนกินอาหาร
3.ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ
4.จัดให้มีห้องสุขาที่สะอาด มิดชิด

เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 63-64.


ติดต่อเรา | แผนผังเว็ปไซต์
เข้าสู้เว็บไซต์