ตู้ยาโรงเรียน


เกร็ดความรู้

ปวดประจำเดือน

       ปวดประจำเดือน หมายถึง อาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน ในที่นี้ขอกล่าวถึงอาการปวดประจำเดือนที่ไม่ได้มีความผิดปกติของมดลูกหรือรังไข่ เป็นอาการปวดประจำเดือนที่พบในเด็กสาวทั่วไป ไม่ได้มีสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน  มักเริ่มมีอาการตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรก หรือไม่ก็เกิดขึ้นภายใน 3 ปีหลังมีประจำเดือนครั้งแรก อาการจะมากที่สุดในช่วงอายุ 15-25 ปี หลังจากวัยนี้อาการจะค่อยๆ ลดน้อยลง ส่วนใหญ่จะปวดไม่มากและสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่มีส่วนน้อยที่อาจปวดรุนแรงจนต้องนอนพัก


 

อาการ
       จะเริ่มมีอาการก่อนมีประจำเดือนไม่กี่ชั่วโมง และเป็นอยู่ตลอดช่วง 2-3 วันแรกของการมีประจำเดือน โดยมีอาการปวดบิดเป็นพักๆ ที่ท้องน้อย อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน อารมณ์หงุดหงิดร่วมด้วย ถ้าปวดรุนแรงอาจมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็นได้

การรักษาเบื้องต้น
การปฎิบัติตัว
1.ถ้าปวดมากให้นอนพัก
 2.ใช้ กระเป๋าน้ำร้อน ประคบหน้าท้อง
ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้าปวดไม่มากให้ ยาพาราเซตามอล
2.ถ้าปวดมากใช้ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน เมเฟนามิก   

การป้องกัน
       ให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับประจำเดือน และให้ความมั่นใจว่าอาการที่เป็นไม่ได้มีอันตรายร้ายแรง


เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 65-66.


ร่วมสนับสนุนโดย มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.)