เกร็ดความรู้

ไข้หวัดใหญ่

       พบได้ตลอดทั้งปี โดยพบมากช่วงฤดูฝน (มิถุนายนถึงตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคมถึงมีนาคม) สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่  ซึ่งมีทั้งชนิดที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงพบการระบาดได้กว้างขวาง และชนิดที่ก่อให้เกิดอาการเพียงเล็กน้อยและไม่ค่อยพบการระบาด มีการติดต่อแบบเดียวกับไข้หวัด คือเชื้อไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรดทั้งในระยะใกล้ หรือแขวนลอยไประยะไกลในอากาศ รวมทั้งการสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนที่มีการรวมกลุ่มกัน เช่น ห้องเรียน ห้องประชุม ห้องนอนรวม

อาการ

       มักเกิดขึ้นทันทีทันใด มีอาการไข้สูง หนาวๆร้อนๆ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ อาจมีอาการเจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้งๆ จุกแน่นท้อง


การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว
1.พักผ่อนมากๆ ไม่ควรออกกำลังกายมากเกินไป
2.สวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น
3.ดื่มน้ำมากๆ ควรดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น เพราะการดื่มน้ำเย็นจะทำให้ไอมากขึ้น
4.กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เครื่องดื่มร้อน น้ำหวาน น้ำผลไม้
5.ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเช็ดตัวเวลามีไข้       

ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต ควรหลีกเลี่ยงการให้ยาแอสไพริน
2.ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากจนสร้างความรำคาญ ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน โดยให้ใน 2-3 วันแรก เมื่ออาการทุเลาแล้วควรหยุดยา หรือถ้าอาการไม่มากไม่ควรให้ยา หากเด็กเล็กไอ มีเสมหะเหนียวให้งดยาแก้แพ้ 
3.ถ้าไอมีเสมหะ ควรจิบน้ำอุ่น หรือ จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (อัตราส่วน น้ำผึ้ง 4ส่วน : น้ำมะนาว 1 ส่วน) ถ้าไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ หรือคันคอ ไม่มีเสมหะ ให้จิบยาแก้ไอน้ำดำ ในเด็กถ้ามีเสมหะให้ ยาน้ำแก้ไอขับเสมหะสำหรับเด็ก หากไอมากควรส่งต่อสถานพยาบาล อาจจำเป็นต้องใช้ยา แก้ไอขับเสมหะชนิดเม็ด หรือ ยาระงับไอ 
       ในการดูแลอาการไข้หวัดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ควรสังเกตว่าเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงหรือไม่ ดังนี้
       ช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดนก กลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยตายภายใน 7 วัน หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกภายใน 14 วัน
       ช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ชนิด เอ H1N1 ผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Influenza-like symptom) คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียส มีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อย อาเจียน ท้องเสีย และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอ้วน เด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 2 ปี) เด็กที่มีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน หรือ โรคที่มีภาวะภูมิต้านทานโรคต่ำ (เช่น เอดส์ มะเร็ง เอสแอลอี) โรคทาลัสซีเมีย โรคที่มีความผิดปกติทางระบบประสาท โรคลมชัก หรือเด็กที่กำลังกินยาแอสไพรินรักษาโรคอื่น
       กลุ่มเสี่ยงควรได้รับการดูแลอาการอย่างใกล้ชิด และส่งต่อสถานพยาบาลเมื่ออาการไข้ไม่ดีขึ้นหลังจากติดตามอาการนาน 2 วัน
       นอกจากนี้ ในเด็กเล็ก หรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ อาจมีอาการมาก  ควรส่งต่อสถานพยาบาลเมื่อ อาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย กินไม่ได้ หรือกินได้น้อยกว่าปกติอย่างชัดเจน หรือมีภาวะขาดน้ำ เด็กมีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด และมีอาการไอ เหนื่อย หรือ หอบมาก 
       ส่งโรงพยาบาล ด่วน เมื่อมีอาการ ซึมผิดปกติ หรือ ชัก ปวดหัวมาก หนาวสั่นมาก อาเจียนหรือท้องเสียมาก ซีดเหลือง กินไม่ได้ หรือกินได้น้อยกว่าปกติอย่างชัดเจน หรือมีภาวะขาดน้ำ มีอาการไอ เหนื่อย หรือ หอบมาก

การป้องกัน
1.ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัด

  • ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • ช่วงที่มีการระบาด

- ใส่หน้ากากอนามัย

- ล้างมือบ่อยๆ

- แยกผู้ป่วยให้ห่างจากผู้อื่น เช่น ไม่นอนปะปน หรือคลุกคลีใกล้ชิดกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด

- ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ของเล่นร่วมกัน

2.ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์
3.วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่คนทั่วไป มักฉีดตอนที่มีการระบาดใหญ่ และฉีดให้ผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหืด หรือโรคเรื้อรังทางปอดและหัวใจ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ) บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่จะเดินทางไปถิ่นระบาดของโรค
4.ควรให้เด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่หยุดเรียน 5-7 วัน

เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 27-30


ติดต่อเรา | แผนผังเว็ปไซต์
เข้าสู้เว็บไซต์