เกร็ดความรู้

วัคซีน

      วัคซีน (Vaccine) คือ สารที่เตรียมขึ้นจากเชื้อโรคหรือส่วนของเชื้อโรค 

ซึ่งนำเข้าสู่ร่างกาย แล้วจะทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน 

เปรียบเสมือนเครื่องป้องกันร่างกาย ที่จำเพาะต่อเชื้อโรคชนิดนั้นๆ

 

      วัคซีนแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ วัคซีนพื้นฐาน และ วัคซีนเสริม 

โดยวัคซีนพื้นฐานเป็นวัคซีนที่จำเป็นต่อเด็กทุกคน ซึ่งต้องได้รับให้

ครบอย่างถูกต้อง ส่วนวัคซีนเสริมเป็นวัคซีนที่เด็กสามารถได้รับ

เพิ่มเติมนอกเหนือจากการป้องกันโรคของวัคซีนพื้นฐาน โดยเฉพาะ

เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับเชื้อโรค

ก็ควรฉีดเพื่อป้องกันไว้

การให้วัคซีนเป็นวิธีการสร้างเสริมสุขภาพ

ให้แข็งแรงที่มีความคุ้มค่ากว่า เมื่อต้องทำการรักษา 

หลังจากติดเชื้อหรือเป็นโรคไปแล้ว

วัคซีนพื้นฐาน

วัคซีนบีซีจี ป้องกันวัณโรค (BCG)

     วัคซีนบีซีจีเป็นวัคซีนที่ฉีดให้แก่เด็กทารกแรกเกิดเพื่อป้องกันโรควัณโรค ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ทำให้ปอดอักเสบ อีกทั้งยังก่อให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ และผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายที่สุด ก็คือเด็กวัยแรกเกิด ถึง 5 ปี

วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (HB)

     วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีเป็นวัคซีนที่ฉีดให้แก่เด็กทารกแรกเกิด และเด็กอายุ 1 เดือน เพื่อป้องกันโรคตับอักเสบบี เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย โดยสัมผัสกับเลือด ผลิตภัณฑ์ของเลือด   น้ำคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ*  ผู้ที่เป็นพาหะมีโอกาสเป็นโรคตับอักเสบชนิดเรื้อรังและโรคตับแข็งได้ และถ้าหากการติดเชื้อและเป็นพาหะมาตั้งแต่วัยเด็กจะมีโอกาสเกิดเป็นโรคมะเร็งตับได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีเชื้อหลายเท่า (* ผู้ที่เป็นพาหะ คือ ผู้ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ แต่ไม่แสดงอาการของโรค ซึ่งสามารถแพร่เชื้อไปยังทารกในครรภ์ และผู้อื่นได้)

วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ ชนิดหยอด (OPV)

     วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอเป็นวัคซีนชนิดหยอด ซึ่งให้แก่เด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน เพื่อป้องกันโรคโปลิโอ  เพราะเชื้อไวรัสโปลิโอจะ ทำให้มีการอักเสบของไขสันหลัง และมีอัมพาตของกล้ามเนื้อแขนขา ซึ่งในรายที่อาการรุนแรงจะทำให้มีความพิการตลอดชีวิต และบางรายอาจถึงเสียชีวิต

วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ (DTP)

     วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์ เป็นวัคซีนที่ฉีดให้แก่เด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน  เพื่อป้องกันโรคคอตีบ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดฝ้าขาวที่คอ หากติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้เกิดหัวใจวายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนโรคบาดทะยักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ง่ายและกระจายอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม เมื่อได้รับเชื้อจะไม่สามารถรักษาได้ โดยจะเกิดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ กลืนอาหารไม่ได้ และทำให้เสียชีวิตในที่สุด ส่วนโรคไอกรน เด็กที่เป็นโรคนี้จะไอมากจนรับประทานทานอาหารไม่ได้อาจเกิดโรคปอดบวมและเสียชีวิตได้

วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อตาย (JE)

     วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อตาย เป็นวัคซีนที่ฉีดให้แก่เด็กอายุ 12-15 เดือน และ 2 ปี เพื่อป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ มีเพียงส่วนน้อยที่จะป่วยและมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ซึม และชัก โรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ ผู้ป่วยมักมีความพิการทางสมองและมีอัตราการเสียชีวิตสูง 

วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR)

     วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม เป็นวัคซีนที่ฉีดให้แก่เด็กอายุ 9 เดือน และ 5-6 ปี เพื่อป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่พบบ่อยในเด็ก ติดต่อได้ง่าย เด็กที่ติดเชื้ออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ ปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ และที่รุนแรงถึงเสียชีวิตคือ สมองอักเสบ

 

รายการรับวัคซีนของเด็กแต่ละช่วงวัย

อายุ วัคซีนพื้นฐาน วัคซีนเสริม อาการเทรกซ้อน หมายเหตุ

แรกเกิด

o BCG
o ตับอักเสบบี เข็มที่ 1  

 

 

ถ้ามารดาเป็นพาหะของตับอักเสบบี ควรให้วัคซีนเร็วที่สุด

1 เดือน

o ตับอักเสบบี เข็มที่ 2 

 

 

อาจให้ได้เมื่ออายุ 2 เดือน

2 เดือน

o DTP เข็มที่ 1
o OPV หยดครั้งที่ 1

o เยื่อหุ้มสมองอักเสบบี เข็มที่ 1
o นิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกตเข็มที่ 1 (IPD)

หลังให้วัคซีน DTP อาจมีไข้ได้ 1-2 วัน

อาจมีการให้วัคซีนเยื่อหุ้มสมองอักเสบบีรวมกับวัคซีน DTP เป็นเข็มเดียว

4 เดือน

DTP เข็มที่ 2
OPV หยดครั้งที่ 2

เยื่อหุ้มสมองอักเสบบี เข็มที่ 2
นิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกตเข็มที่ 2 (IPD)

หลังให้วัคซีน DTP อาจมีไข้ได้ 1-2 วัน

อาจมีการให้วัคซีนเยื่อหุ้มสมองอักเสบบีรวมกับวัคซีน DTP เป็นเข็มเดียว

6 เดือน

DTP เข็มที่ 3

OPV หยดครั้งที่ 3 

เยื่อหุ้มสมองอักเสบบี เข็มที่ 3

นิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกตเข็มที่ 3 (IPD)

หลังให้วัคซีน DTP อาจมีไข้ได้ 1-2 วัน

อาจมีการให้วัคซีนเยื่อหุ้มสมองอักเสบบีรวมกับวัคซีน DTP เป็นเข็มเดียว

9 เดือน

MMR       เข็มที่ 1  

 

หลังฉีด MMR 5-7 วัน อาจมีไข้ มีผื่น 1-2 วัน 

ไม่ควรให้วัคซีน MMR ในเด็กที่แพ้ไข่

12-15 เดือน

o JE เข็มที่ 1 และ 2  

o นิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกตเข็มที่ 4 (IPD)    

 

JE ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-4 สัปดาห์

18 เดือน

o DTP เข็มกระตุ้นที่ 1
o OPV หยอดกระตุ้นที่ 1

 

หลังให้วัคซีน DTP อาจมีไข้ได้ 1-2 วัน

 

2 ปี

o JE เข็มที่ 3          

 

 

 

3 ปี

 

ตับอักเสบเอเข็มที่ 1 และ 2 

 

- อาจให้เมื่ออายุ 4-6 ปี 
- ตับอักเสบเอเข็มที่2 ห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน

4 ปี

o DTP เข็มกระตุ้นที่ 2
o OPV หยอดกระตุ้นที่ 2    

 

หลังให้วัคซีน DTP อาจมีไข้ได้ 1-2 วัน

 

5-6 ปี

o MMR       เข็มที่ 2

 

หลังฉีด MMR 5-7 วัน อาจมีไข้ มีผื่น 1-2 วัน    

ไม่ควรให้วัคซีน MMR ในเด็กที่แพ้ไข่

6-10 ปี

 

o ไทฟอยด์ 

 

- ไม่แนะนำในเด็กไทย
- แนะนำเมื่อจะเดินทางไปในดินแดนที่ระบาด

10-12 ปี

 

o  อีสุกอีใส    

 

- สำหรับคนที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน
- หากอายุมากกว่า 12ปี ต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 4-8สัปดาห์

หมายเหตุ : วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนเสริม ที่สามารถฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป แต่สำหรับในเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี ควรฉีดครั้งแรก 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน เด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ให้ฉีดครั้งแรกเข็มเดียว หลังจากนั้นจะมีการฉีดซ้ำทุกปี ปีละหนึ่งเข็ม 

Click เพื่อดาวน์โหลดรายการรับวัคซีนของเด็กแต่ละช่วงวัย

ข้อควรระวังเกี่ยวกับวัคซีน

•  หากแพ้วัคซีน หรือส่วนประกอบของวัคซีน ควรหลีกเลี่ยงการให้วัคซีนนั้น ส่วนผู้ที่แพ้ไข่รุนแรงควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนการรับวัคซีน เนื่องจากวัคซีนบางชนิดมส่วนประกอบของไข่ เช่น วัคซีน คางทูม วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 
•  หากมีไข้สูง ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน 
•  ห้ามให้วัคซีนที่มีส่วนผสมของวัคซีนไอกรน ในกรณีที่มีอาการทางสมอง (encephalopathy) รวมถึงในกรณีของเด็กที่มีโรคประจำตัวทางระบบประสาทที่ควบคุมอาการของโรคยังไม่ได้ 
•  หากเพิ่งได้รับเลือด หรือผลิตภัณฑ์ของเลือด ไม่ควรให้วัคซีนโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน บีซีจี และโปลิโอ เพราะอาจไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่ดี 
•  วัคซีนโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน บีซีจี และโปลิโอ ไม่ควรให้ในหญิงมีครรภ์ เพราะเชื้ออาจผ่านทางรกไปสู่เด็กทำให้ติดเชื้อได้
•  ผู้หญิงที่ได้รับวัคซีนหัดเยอรมัน หรือวัคซีนเชื้อเป็นชนิดอื่น ควรคุมกำเนิดหลังได้รับวัคซีนนาน 1 เดือน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
•  ทารกคลอดก่อนกำหนด สามารถรับวัคซีนได้ตามปกติ ยกเว้นกรณีที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,000 กรัม ควรให้วัคซีนตับอักเสบบีซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 1 เดือน 
•  การให้วัคซีนในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจได้ผลไม่ดี และควรหลีกเลี่ยงวัคซีน เพราะอาจเกิดอาการข้างเคียงรุนแรง
•  ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์ (steroid) เป็นเวลานาน ไม่ควรให้วัคซีนจนกว่าจะหยุดยาไป 1 เดือน 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, อังกูร เกิดพาณิช. คู่มือการใช้วัคซีนสำหรับเด็กไทย 2545. ชมรมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย. ครั้งที่ 1. เนติกุลการพิมพ์ (2541) จำกัด: กรุงเทพ, 2545
  2. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. วัคซีน [Online]. [cited in 15 May 2013]. Available from: URL:http://biop.pharm.su.ac.th/vaccine.
  3. มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน. วัคซีนพื้นฐาน [Online]. [cited in 15 May 2013]. Available from: URL:http://www.welovevaccines.com/basic-vaccine.php.
  4. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย 2556. ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทยปกติ [Online]. [cited in 15 May 2013]. Available from: URL:http://www.biogenetech.co.th/healtheducation/ตารางการให้วัคซีน.
  5. โรงพยาบาลเด็ก สมิติเวช ศรีนครินทร์. การให้ฉีดวัคซีนในเด็ก [Online]. [cited in 15 May 2013]. Available from: URL:http://www.youtube.com/watch?v=Ln1ni5tx20I.

 


ติดต่อเรา | แผนผังเว็ปไซต์
เข้าสู้เว็บไซต์