เกร็ดความรู้

รู้ได้อย่างไรว่า “มีไข้”

 

        ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายท่านคงเป็นกังวลไม่น้อยเมื่อพบว่าลูกน้อยซึ่งเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของตัวเองไม่สบายหรือมีไข้ ยิ่งถ้ามีอาการร้องไห้โยเย คลื่นไส้อาเจียนหรือนอนซึมร่วมด้วยยิ่งทำตัวไม่ถูกกันเลยทีเดียว ไม่รู้ว่าอาการที่เป็นรุนแรงแค่ไหน ต้องพาไปพบแพทย์แล้วหรือไม่? ดังนั้นบทความนี้อาจเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ทราบแนวทางพื้นฐานในการวินิจฉัยโรคเวลาเด็กๆไม่สบายได้มากยิ่งขึ้น
        โดยปกติแล้วอุณหภูมิของร่างกายที่สูงขึ้นเป็นกระบวนการที่ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค หากเด็กสามารถรับประทานทานอาหารได้ นอนหลับสนิท และยังสามารถเล่นสนุกได้ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาใดๆเป็นพิเศษ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นไม่ได้เป็นอันตรายต่อเด็กโดยตรง แต่อย่างไรก็ดีหากอุณหภูมิของร่างกายสูงมากเกินไปเช่นสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสเด็กอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการ “ชัก” ได้ ซึ่งหากปล่อยให้เด็กมีอาการชักติดกันอาจส่งผลต่อภาวะทางสมองของเด็กโดยตรง ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้อาการไข้หวัดธรรมดากลายเป็นสาเหตุของอาการร้ายแรงอื่นๆตามมา ผู้ปกครองควรให้ความใส่ใจต่ออาการป่วยของเด็กเป็นอย่างยิ่ง
  การวัดไข้ทางปากในเด็ก: ภาพจาก http://www.sciencephoto.com
       สำหรับเด็กจะเรียกว่ามีไข้เมื่อมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า

1. 37.8°c เมื่อวัดทางปาก หรือ

2. 37.2°c เมื่อวัดทางรักแร้ หรือ
3. 38°c เมื่อวัดทางทวารหนัก

 

(สามารถอ่านรายละเอียดได้จากบทความ: การใช้มือสัมผัสสามารถวัดไข้ได้จริงหรือ?

        ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้ว หากพบว่าเด็กมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าอุณหภูมิดังกล่าวเบื้องต้นให้หมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดและทำการวัดไข้บ่อยๆ นอกจากนี้หากเด็กในความดูแลของท่านมีอาการดังต่อไปนี้ให้สังเกตอาการอย่างต่อเนื่องและพาไปพบแพทย์โดยด่วนหากอาการเป็นรุนแรงมากขึ้น
• ไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
• มีน้ำมูกข้นและเปลี่ยนเป็นสีเขียว
• ไอและหอบอย่างรุนแรง
• เสียงแหบ หูอื้อ คอแดง
• ซึม เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน
• ท้องเสียอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นน้ำเหลว
• มีตุ่มหนองขึ้นตามร่างกาย
        จะเห็นได้ว่าการสังเกตอาการและการวินิจฉัยอาการไข้ของเด็กทำได้ไม่ยากหากผู้ปกครองดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อาการไข้ธรรมดากลายเป็นอาการที่รุนแรงขึ้นได้
 

        สำหรับผู้ใหญ่จะเรียกว่ามีไข้เมื่อมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.2-37.5°c ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่วัด

ข้อมูลที่ควรทราบ

        โดยปกติแล้วอุณหภูมิของร่างกายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างวัน โดยอุณหภูมิจะสูงที่สุดในช่วงเย็น และปัจจัยอื่นๆที่มีผลต่ออุณหภูมิร่างกาย ได้แก่
• สำหรับผู้หญิงในช่วงที่มีการตกไข่จะมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นประมาณ 1°c หรือมากกว่า
• การออกกำลังกาย, อารมณ์ที่รุนแรง, การรับประทานอาหาร, เสื้อผ้าที่หนาหนัก, ยา, ความร้อนภายในห้อง และความชื้นสูง อาจทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นได้

 

เอกสารอ้างอิง

1. Neil K. Kaneshiro. Fever [Online]. 2010 [Cited 2010 January 29]; Available from: URL:http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/003090.htm
2. Barton D. Schmitt. Should Your Children See a Doctor? Fever [Online]. 2011 [Cited 2011 January 8]; Available from: URL: http://www.seattlechildrens.org/medical-conditions/symptom-index/fever/

3. Sullivan, J.E., Farrar, H.C., (2011). Clinical Report- Fever and Antipyretic Use in Children. Pediatrics, 127 (3), 580-587
4. นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ. (2551) ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป. กรุงเทพมหานคร :โฮลิสติก พับลิชชิ่ง
 

เรียบเรียงโดย เภสัชกรศรายุทธ ทัฬหิกรณ์ และ เภสัชกรหญิงมนธีรา ยอดวัลลภ

 

 


ติดต่อเรา | แผนผังเว็ปไซต์
เข้าสู้เว็บไซต์