เกร็ดความรู้
อาหารไม่ย่อย
เป็นอาการแสดงที่ไม่ได้จำเพาะถึงโรคใดโรคหนึ่ง อาจมีอาการเป็นครั้งคราวหรือเป็นๆหายๆ เรื้อรัง มีหลายสาเหตุ แต่ในเด็กนักเรียนมักเกิดจากกินอาหารไม่ตรงเวลา เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด กินอิ่มเกินไป กินอาหารรสจัด ดื่มน้ำอัดลม
อาการ
มีอาการไม่สบายท้องตรงยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ เกิดขึ้นระหว่างหรือหลังกินอาหาร อาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างร่วมกัน จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้ หรืออาเจียนเล็กน้อย ไม่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่าย
การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว
1.งดเครื่องดื่มกาเฟอีน ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม
2.งดสูบบุหรี่
3.กินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ อย่ากินอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารมัน ของดอง หรืออาหารสุกๆดิบๆ หรือย่อยยาก ควรกินอาหารเย็นก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด อย่ารีบเร่ง หรือกินจนอิ่มมากเกินไป
4.ถ้าน้ำหนักมากควรลดน้ำหนัก
5.ออกกำลังกายเป็นประจำ
ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้ามีลมในท้อง หรือเรอ ให้ ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือ ยาต้านกรดที่มีไซเมทิโคนผสม ถ้าหากไม่ได้ผลหรือคลื่นไส้อาเจียนให้ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
2.ถ้ามีอาการแสบท้องเวลาหิวหรือตอนดึก หรือจุกเสียดแน่นท้องหลังอาหาร เรอเปรี้ยว หรือมีประวัติกินยาแอสไพริน ให้ ยาต้านกรด ร่วมกับ ยาลดการสร้างกรด เช่น รานิทิดีน ถ้ารู้สึกทุเลาลง หลังจากกินยาควรส่งต่อสถานพยาบาลเพื่อรับยากินต่ออย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 8 สัปดาห์ตามอาการ
การป้องกัน
1.ให้ความรู้แก่นักเรียน เรื่องการเลือกอาหารและสุขอนามัยในการกินอาหาร
2.ควบคุมมาตรฐาน อาหาร ขนม เครื่องดื่มในโรงเรียน ให้มีความเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 59-60.