เกร็ดความรู้

หลอดลมอักเสบ

       หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย มักพบหลังเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น และในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่หรือสัมผัสถูกสิ่งระคายเคือง ส่วนใหญ่มักหายได้เอง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

อาการ
       ผู้ป่วยมักมีอาการเป็นไข้หวัด เจ็บคอนำมาก่อน จากนั้นมีอาการไอบ่อย ระยะแรกจะไอแห้งๆ แล้วไอมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาวใน 2-3 ชั่วโมงหรือ 2-3 วันต่อมา ต่อมาจะมีเสมหะปริมาณมากขึ้น อาจมีลักษณะเป็นสีขาว (หากเกิดจากไวรัสหรือการระคายเคือง) หรือกลายเป็นเสมหะข้นสีเขียวหรือเหลือง (ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย) ผู้ป่วยอาจไม่มีไข้หรือมีไข้ต่ำๆ อยู่นาน 3-5 วัน อาจมีเสียงแหบ เจ็บคอ หรือเจ็บหน้าอกเวลาไอ
อาการไอมักเป็นอยู่นาน 1-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจไอนานกว่านี้ อาจไอมากตอนกลางคืน

การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว
1.พักผ่อนมากๆ
2. ดื่มน้ำอุ่นมากๆ วันละ 10-15 แก้ว เพื่อช่วยให้เสมหะออกง่ายขึ้น
3.หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองหรือสิ่งกระตุ้นให้ไอ เช่น ความเย็น น้ำเย็น น้ำแข็ง ของทอด ของมันๆ ฝุ่น ควัน อากาศเสีย ลมจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ

 

ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล  ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต
2.ถ้าไอมีเสมหะ ให้ ยาละลายเสมหะ  และจิบน้ำอุ่น หรือ จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (อัตราส่วน น้ำผึ้ง 4ส่วน : น้ำมะนาว 1 ส่วน)   ถ้าไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ให้ ยาแก้ไอ
       ถ้าไอมีเสมหะข้นเหนียว ควรหลีกเลี่ยงยาระงับอาการไอ และยาแก้แพ้ เพราะอาจทำให้เสมหะเหนียวขับออกยาก หรืออุดกั้นหลอดลมเล็ก ทำให้ปอดบางส่วนแฟบได้
3.ควรส่งต่อสถานพยาบาล เนื่องจากต้องพิจารณาเพื่อให้ยาปฏิชีวนะ              

การป้องกัน
1.ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัด 

  • ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • ช่วงที่มีการระบาด

- ใส่หน้ากากอนามัย

ล้างมือบ่อยๆ

แยกผู้ป่วยให้ห่างจากผู้อื่น เช่น ไม่นอนปะปน หรือคลุกคลีใกล้ชิดกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด

ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ของเล่นร่วมกัน

2.หลังจากให้การรักษาหลอดลมอักเสบแล้ว อาจมีอาการไออยู่นานเป็นสัปดาห์ ถึง 3 เดือนได้ หากสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ฝุ่น ลม ความเย็น
แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด หอบเหนื่อย ไอมีเลือดปน ควรส่งต่อสถานพยาบาลเพื่อตรวจเพิ่มเติม
3.ไม่สูบบุหรี่

 เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 44-45.

 

ติดต่อเรา | แผนผังเว็ปไซต์
เข้าสู้เว็บไซต์