เกร็ดความรู้
อีสุกอีใส / ไข้สุกใส / โรคสุกใส
เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก โรคนี้สามารถระบาดแพร่กระจายได้ง่ายในโรงเรียน พบได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะเดือนมกราคมถึงเมษายน
อีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อจะอยู่ในตุ่มน้ำ รวมทั้งน้ำลาย เสมหะของผู้ที่ป่วยเป็นอีสุกอีใส ติดต่อโดยการสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ที่นอน) หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ หรืออีกทางหนึ่งโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองน้ำลายหรือเสมหะที่ผู้ป่วยจามรด หรือแขวนลอยอยู่ในอากาศ
อาการ
มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว มีตุ่มนูนและตุ่มน้ำใสขึ้นตามตัว มักมีอาการคัน ภายใน 1 วัน จะกลายเป็นตุ่มขุ่นๆ ตุ่มจะแตกง่ายและฝ่อหายไปกลายเป็นสะเก็ดตุ่มจะขึ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจขึ้นในปาก ตรงเพดานปาก ลิ้น คอหอย ในเด็กโตและผู้ใหญ่มักมีอาการมากกว่าและหายช้ากว่าเด็กเล็ก
การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว
1.พักผ่อนมากๆ
2.ดื่มน้ำมากๆ
3.ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง
4.อาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด
5.ถ้าเจ็บปากกินอาหารอ่อน หรืออาหารเหลว หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด เปรี้ยว และเคี้ยวยาก
6.ควรตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่มที่คัน เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียและเป็นแผลเป็นได้
ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต ควรหลีกเลี่ยงการให้ยาแอสไพริน
2.ถ้าคันมากให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน และ ยาทาแก้แพ้ แก้ผดผื่นค้น คาลาไมน์โลชั่น
3.ถ้าตุ่มมีจำนวนมาก มีไข้ตลอด หรือมีการอักเสบที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย ควรส่งต่อสถานพยาบาลเพื่อให้ยาปฏิชีวนะ
4.ถ้าพบโรคนี้ในเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ควรส่งต่อสถานพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมงตั้งแต่ผื่นขึ้น เพื่อพิจารณาให้ยาต้านไวรัสอีสุกอีใส
5.ถ้ามีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น หอบ ชัก ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ควรส่งโรงพยาบาล ด่วน
การป้องกัน
1.ในช่วงที่มีการระบาดหรือมีคนใกล้ชิดเป็นโรคนี้ การป้องกันให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัด
- ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
- ช่วงที่มีการระบาด
- ใส่หน้ากากอนามัย
- ล้างมือบ่อยๆ
- แยกผู้ป่วยให้ห่างจากผู้อื่น เช่น ไม่นอนปะปน หรือคลุกคลีใกล้ชิดกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด
- ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ของเล่นร่วมกัน
2.แยกผู้ป่วยออกต่างหากจนพ้นระยะติดต่อ (6 วันหลังจากตุ่มขึ้น)
3.โรคนี้มีวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส แต่เป็นวัคซีนเผื่อเลือก คือ ไม่ได้บังคับให้ฉีดในเด็กทั่วไปทุกคน แนะนำฉีดในเด็กอายุ 12-18 เดือน ส่วนเด็กโตที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนนี้มาก่อนฉีดช่วงอายุใดก็ได้ สำหรับผู้ใหญ่ แนะนำให้ฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลเด็กในสถานรับลี้ยงเด็ก ครูอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่วางแผนตั้งครรภ์ในอนาคต
ถ้าเคยเป็นโรคนี้แล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตและไม่เป็นซ้ำอีก จึงไม่ต้องฉีดวัคซีน เด็กอายุน้อยกว่า 13 ปี ฉีดวัคซีนเพียงครั้งเดียว เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 4-8 สัปดาห์
เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 50-51.