เกร็ดความรู้

ไข้หวัด

       ไข้หวัดเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด พบได้ตลอดปี มักจะพบมากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง  โรคไข้หวัดติดต่อได้ง่ายโดยเชื้อไวรัสไข้หวัดที่มีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย ติดต่อผ่านทางการสูดหายใจเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรดในระยะห่างไม่เกิน  1 เมตร ดังนั้นโรคไข้หวัดจึงพบได้มากในโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กๆ อยู่รวมกลุ่มใกล้ชิดกัน  บางคนอาจจะเป็นไข้หวัดปีละหลายครั้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนปีแรกๆ อาจเป็นเฉลี่ยประมาณเดือนละครั้ง

       เนื่องจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดมีอยู่มากกว่า 200 ชนิดผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการอักเสบของจมูกและลำคอ เมื่อมีอายุมากขึ้น ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อหวัดชนิดต่างๆ มากขึ้น ก็จะป่วยเป็นไข้หวัดห่างขึ้นและมีอาการรุนแรงน้อยลงไป 

อาการ
       มีไข้เป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้งหรือเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะสีขาวเล็กน้อย 
       ในเด็กโต หรือผู้ใหญ่ อาจไม่มีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกใส

 


การรักษาเบื้องต้น
       ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มีการรักษาเฉพาะ มีเพียงการรักษาไปตามอาการ
การปฏิบัติตัว
1.พักผ่อนมากๆ
2.ไม่ควรออกกำลังกายมาก งดเล่นกีฬากลางแจ้ง
3.สวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น
4.ดื่มน้ำมากๆ ควรดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น เพราะการดื่มน้ำเย็นจะทำให้ไอมากขึ้น
5.กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เครื่องดื่มร้อน น้ำหวาน น้ำผลไม้
6.ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเช็ดตัวเวลามีไข้     
ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต
ควรหลีกเลี่ยงการให้ยาแอสไพริน
2.ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากจนสร้างความรำคาญ ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน โดยให้ใน 2-3 วันแรก เมื่ออาการทุเลาแล้วควรหยุดยา หรือถ้าอาการไม่มากไม่ควรให้ยา หากเด็กเล็กไอ มีเสมหะเหนียวให้งดยาแก้แพ้ 
3.ถ้าไอมีเสมหะ ควรจิบน้ำอุ่น หรือ จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (อัตราส่วน น้ำผึ้ง 4ส่วน : น้ำมะนาว 1 ส่วน) ถ้าไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ หรือคันคอ ไม่มีเสมหะ ให้จิบยาแก้ไอน้ำดำ ในเด็กถ้ามีเสมหะให้ ยาน้ำแก้ไอขับเสมหะสำหรับเด็ก หากไอมากควรส่งต่อสถานพยาบาล อาจจำเป็นต้องใช้ยา แก้ไอขับเสมหะชนิดเม็ด หรือ ยาระงับไอ 

       ในการดูแลอาการไข้หวัด ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ครูหรือผู้ปกครองที่ดูแลเด็กควรมีความเข้าใจ ควรมี ยาพาราเซตามอลไว้ประจำที่บ้านและที่โรงเรียนให้เด็กกินเวลาตัวร้อน ยาปฏิชีวนะควรใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้จริงๆ เท่านั้น และควรไปพบแพทย์เมื่อสงสัยว่าเป็น ไข้หวัดที่มีภาวะแทรกซ้อน ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ

       ควรส่งโรงพยาบาล ด่วน เมื่อมีอาการ ซึมผิดปกติ หรือ ชัก ปวดหัวมาก หนาวสั่นมาก อาเจียนหรือท้องเสียมาก ปวดท้องมาก ซีดเหลือง กินไม่ได้ หรือกินได้น้อยกว่าปกติอย่างชัดเจน หรือมีภาวะขาดน้ำ มีอาการไอ เหนื่อย หรือ หอบมากในเด็กเล็ก หรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ อาจมีอาการมาก ควรส่งต่อสถานพยาบาลเมื่อมีอาการอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย กินไม่ได้ หรือกินได้น้อยกว่าปกติอย่างชัดเจน หรือมีภาวะขาดน้ำ เด็กมีโรคประจำตัวเป็นหอบหืด
       นอกจากนี้ควรส่งต่อสถานพยาบาลเพื่อตรวจเพิ่มเติมในกรณีต่อไปนี้

  • มีประวัติเข้าป่า หรือ มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายภายใน 7 วัน ก่อนมีไข้ หรือ อยู่ในพื้นที่ที่มีไข้หวัดนกระบาดภายใน 14 วันก่อนมีไข้
  • มีการสัมผัสผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ หรือ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรง

       
การป้องกัน
1.ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
2.ช่วงที่มีการระบาด

  • ใส่หน้ากากอนามัย
  • ล้างมือบ่อยๆ
  • แยกผู้ป่วยให้ห่างจากผู้อื่น เช่น ไม่นอนปะปน หรือคลุกคลีใกล้ชิดกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด
  • ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ของเล่นร่วมกัน
  • ควรให้เด็กที่เป็นไข้หวัด หยุดเรียน 1-3 วัน

เอกสารอ้างอิง

1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 22-26


ติดต่อเรา | แผนผังเว็ปไซต์
เข้าสู้เว็บไซต์