เกร็ดความรู้
ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยมากอีกโรคหนึ่งในเด็ก ซึ่งมักพบมากในเด็กอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ 10-15 ปี และกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ก็มีแนวโน้มพบได้มากขึ้น
มักพบระบาดเมื่อมีพาหะนำโรคคือยุงลายชุกชุม ในช่วงฤดูฝนที่มีแหล่งน้ำท่วมขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
แต่เดิมพบว่ายุงลายมักออกหากินในเวลากลางวัน เด็กเล็กที่นอนกลางวันที่โรงเรียนและเด็กที่นั่งเรียนในห้องเรียนที่อับทึบมียุงชุมจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ควรให้ยุงกัด แต่ช่วงหลังพบว่ายุงลายออกหากินในเวลากลางคืนด้วย ดังนั้นช่วงเวลากลางคืนที่เด็กอยู่ที่บ้านก็อาจถูกยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัดได้
อาการ
ไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 ระยะไข้สูง ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน มีไข้สูงลอยตลอดเวลา กินยาลดไข้ก็มักจะไม่ลด หน้าแดง ตาแดง ปวดศีรษะ กระหายน้ำ ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ประมาณวันที่ 3 ของไข้อาจมีผื่นแดง ไม่คัน ขึ้นตามแขนขาและลำตัว
ระยะที่ 2 ระยะช็อกและมีเลือดออก อาการเกิดขึ้นในวันที่ 3-7 ของโรค ซึ่งถือว่าเป็นช่วงวิกฤต อาการไข้จะเริ่มลดลง แต่อาจมีอาการทรุดหนัก ปวดท้อง อาเจียนบ่อยขึ้น ซึมมากขึ้น กระสับกระส่าย ตัวเย็น มือเท้าเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะออกน้อย อาจมีอาการเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดสดๆ หรือเป็นสีกาแฟ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดๆ หรือเป็นสีน้ำมันดิบๆ ถ้าเลือดออกมักทำให้เกิดภาวะช็อกรุนแรงและผู้ป่วยอาจเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ระยะที่ 2 นี้กินเวลาประมาณ 2-3 วันหากผ่านช่วงวิกฤตไปได้ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3
ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว กินเวลา 7-10 วัน หลังจากระยะที่ 2 ในรายที่ภาวะช็อกไม่รุนแรง อาการจะดีขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ หรือรายที่มีภาวะช็อกรุนแรงเมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีก็จะฟื้นตัวสู่สภาวะปกติ เริ่มอยากกินอาหาร ปัสสาวะออกมากขึ้น
การรักษาเบื้องต้น
1.ถ้าอาการไม่รุนแรง (ระยะที่ 1) มีเพียงไข้สูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร โดยยังไม่มีภาวะเลือดออกหรือช็อก ให้การรักษาตามอาการ ดังนี้
- ให้ผู้ป่วยนอนพักมากๆ
- หากมีไข้สูง ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ และให้ ยาพาราเซตามอล ห้ามให้แอสไพริน
- ให้อาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก นม น้ำหวาน
- ให้ดื่มน้ำมากๆ จนปัสสาวะออกมากและใส หรือ ดื่ม ผงน้ำตาลเกลือแร่ แทนน้ำ
- สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
2.ถ้าผู้ป่วยอาเจียนมาก มีภาวะขาดน้ำ หรือมีอาการของไข้เลือดออกระยะที่ 2 ควรส่งโรงพยาบาล ด่วน
การป้องกัน
1.ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
2.ป้องกันอย่าให้ยุงลายกัดทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 31-33